วัดปฐมวิเวก ต.หนองย่างเสือ อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี

ถ่อน

ถ่อน / ทิ้งถ่อน

ทิ้งถ่อน ชื่อสามัญ White siris, Sit ทิ้งถ่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Albizia procera (Roxb.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

สมุนไพรทิ้งถ่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พระยาฉัตรทัน ส่วน (เชียงใหม่, เลย), ถ่อน ถินถ่อน นมหวา นุมหวา ทิ้งถ่อน (ภาคกลาง), ควะ เยกิเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เชอะบ้อง ซะบ้อง แซะบ้อง เซะบ้อง เส่บ้อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น

ต้นทิ้งถ่อน จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านต่ำและโปร่ง ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มเป็นเรือนยอด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย ต้นแก่เป็นสีเทาถึงสีน้ำตาล เปลือกต้นมีรอยด่างเป็นสีน้ำตาลกระจาย พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นตามป่าหญ้า ตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าทุ่งตอนลุ่มในภาคกลางทั่วไป หรือในพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึง และยังขึ้นกระจัดกระจายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคตะวันออก ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้มักจะขึ้นเป็นกลุ่มแบบห่าง ๆ กันบนภูเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,000 เมตร ส่วนในกรุงเทพฯ ก็พบว่ามีปลูกกันบ้างประปราย และในต่างประเทศพบขึ้นทางตอนใต้ของจีน พม่า ลาว และกัมพูชา

 

 

สรรพคุณของทิ้งถ่อน

 

  1. เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม เป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)
  2. แก่นใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)
  3. เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ช่วยแก้ลมในกองธาตุ แก้ลมป่วง (เปลือกต้น)
  4. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)
  5. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้กษัย แก้ลมกษัย (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)
  6. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)
  7. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้หืดไอ (เปลือกต้น)
  8. เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม มีสรรพคุณแก้อาเจียน (เปลือกต้น)
  9. ช่วยในการขับผายลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (เปลือกต้น) หรือจะใช้รากและแก่นต้มกับน้ำดื่มแก้อาการท้องอืดก็ได้เช่นกัน (รากและแก่น) ส่วนผลก็เป็นยาขับลม แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อเช่นกัน (ผล)
  10. เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูมเป็นยาแก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)
  11. ช่วยแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)
  12. แก่นใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (แก่น)
  13. ช่วยแก้ระดูขาวของสตรี (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)
  14. รากใช้เป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (ราก)
  15. เปลือกใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด ใช้ชะล้างบาดแผลและช่วยสมานแผล (เปลือกต้น)[8] ช่วยแก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรังและใช้ทาฝี (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)
  16. ช่วยแก้โรคผิวหนัง (เปลือกต้น)
  17. รากและแก่นทิ้งถ่อนมีรสขมร้อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว แก้เส้นตึง เส้นท้องตึง (รากและแก่น)

 

 

ประโยชน์ของทิ้งถ่อน

ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนสามารถนำไปลวกหรือต้มรับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกได้

ใบมีรสเฝื่อนเมา นำมาเผาไฟผสมกับน้ำใบยาสูบฉุน ๆ และน้ำปูนขาว ใช้เป็นยาฉีดฆ่าตัวสัตว์ หนอน และแมลงได้เป็นอย่างดี

เปลือกต้นให้น้ำฝาดที่สามารถนำมาใช้ในการฟอกหนัง ใช้ในการย้อมผ้า เนื้อไม้มีความเหนียว แข็งแรงทนทาน และชักเงาได้ดี

สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานแกะสลัก ทำเครื่องมือกสิกรรม เช่น ด้ามจอบ ครกตำข้าว ฯลฯ หรือใช้ทำล้อเลื่อน กระเดื่อง ฟันสีข้าว ถังไม้ ทำรถ เรือแจว เรือพาย พาย กรรเชียง ฟืนถ่าน ฯลฯ

เนื่องจากต้นทิ้งถ่อนเป็นไม้ตระกูลถั่วจึงมีการนำมาใช้ปลูกในแปลงวนเกษตร โดยการปลูกร่วมกับพืชเกษตรกรรมอื่น ๆ และยังมีการนำไปปลูกไว้ตามสวนหรือริมถนนอีกด้วย