วัดปฐมวิเวก ต.หนองย่างเสือ อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี

ไทรย้อยใบยาว

ไทรย้อยใบยาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus maciellandii king.

ชื่อวงศ์ MORACEAE

ถิ่นกำเนิด ไนจีเรีย

ลักษณะทั่วไป

ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-25 ม. ขนาดทรงพุ่ม 12-15 ม. ผลัดใบระยะสั้น ทรงพุ่มกลมแผ่กว้าง แตกกิ่งห้อยย้อย ลำต้นมีลักษณะกิ่งขนาดใหญ่พันกัน โคนต้นเป็นพูพอน ระบบรากแผ่กว้าง เปลือกต้นสีเทา มีจุดสีครีมทั้งต้นและมีรากอากาศเล็กน้อย

ใบ

ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบดาบหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลมโคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวสด เรียบเป็นมัน เส้นกลางใบจม ก้านใบยาว 1-1.2 ซม.
ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อรูปร่างคล้ายผล คือ มีฐานรองดอก เจริญแผ่ขยายใหญ่เป็นกระเปาะมีรูเปิดที่ปลาย โอบดอกไว้ ดอกมีขนาดเล็ก แยกเพศในกระเปาะ ดอกทั้งสองเพศ มีกลีบรวม 3 กลีบ รูปไข่ ดอกเพศผู้มีจำนวนน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 0.3-0.5 ซม. ไม่มีก้านช่อดอก ออกดอกเดือน มี.ค.-เม.ย.

ผล

ผลสดแบบมะเดื่อ ทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1 ซม. ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งสีเขียวอมเหลือง มีปุ่มปม ขนาดเล็กทั่วผล เมื่อสุกเหลืองอมส้มหรือสีนํ้าตาลอมเหลือง ด้านบนมีวงแหวนและมีรอยบุ๋มไม่มีก้านผลที่ขั้วผลมีกาบเล็กๆ 3 กาบรองรับ เมล็ดทรงกลม สีดำ ขนาดเล็กจำนวนมาก ติดผลเดือน พ.ค.-มิ.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง นิเวศวิทยา พบการปลูกเลี้ยงทั่วไป

การใช้ประโยชน์

ก้านแผ่กิ่งก้านสาขามาก สามารถนำมาปลูก ตามสนามได้ ช่วยให้ร่มเงา ผลสุกเป็นอาหารของนก

ที่มา: วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย